ฉลาก

5 วิธีง่ายๆ สังเกตฉลากอาหาร ที่คุณจะไม่โดนหลอกอีกต่อไป

1. เลือกอาหารที่ไม่มีฉลาก (Nutrition Facts)

ไม่ได้แปลว่าให้เลือกอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีฉลากอะไรแบบนั้น แต่หมายถึงให้เลือกอาหารสด ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ กุ้ง ปู ปลา เนื้อหมู เนื้อไก่ ซึ่งปกติอาหารสดเหล่านี้จะไม่มีฉลากบอก คือเห็นก็รู้แล้วว่าคืออะไร และไม่ได้ผ่านการใส่เสริมเติมเครื่องปรุงอะไรลงไป ไม่ได้ผ่านกระบวนการอะไรมากมาย เพราะยิ่งผ่านกระบวนการมาก ยิ่งลดทอนคุณค่าทางอาหารลงไป เหลือแต่แคลอรี่

2. เลือกอาหารที่เก็บไว้ได้ไม่นานเกินไป

ยิ่งอะไรที่เก็บไว้ได้นานๆ เช่น วันหมดอายุนานมาก ให้เดาก่อนเลยว่าผ่านการแปรรูปมาก เช่น ผ่านความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อจนหมด คุณค่าทางอาหารก็จะหายไปด้วย ผ่านการเอาน้ำ เอาสิ่งที่เสียง่ายออกหมด แต่กลับใส่ไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัวต่างๆ สารที่ทำให้คงตัว ไม่เสียง่ายแต่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายและอาจเป็นโทษด้วยลงไปแทน เพราะวิตามินต่างๆ ส่วนมากมักไม่คงตัว ยิ่งนานยิ่งสลายไป (มีข้อยกเว้นบางอย่าง เช่น อาหารที่เกิดจากการหมักต่างๆ ที่มีแบคทีเรียดีหรือโปรไบโอติก อาจต้องใช้เวลาเก็บไว้นานเพื่อหมักให้แบคทีเรียเจริญเติบโต และผลิตวิตามินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย)

3. อย่าลืมดูหน่วยบริโภคหรือ Servings per container

หน่วยบริโภค
บางทีเราก็มานั่งดูแคลอรี่ ดูน้ำตาลอยู่ตั้งนาน แต่ลืมดูระบุปริมาณต่อหน่วยบริโภคเท่าไหร่ เพราะบางที 1 ห่อมี 8 หน่วยบริโภค อย่าลืมคูณ 8 ด้วย ถ้าเผลอกินคนเดียวหมด เป็นไปได้ว่าอาจจะรับประทานเกินไป

4. ไม่ควรมีไขมันทรานส์

ไขมันทรานส์
ไขมันทรานส์เป็นไขมันที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อให้คงตัว จัดเป็นไขมันตัวร้ายที่สุด พอได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศให้ผู้ผลิตต่างๆ เลิกใช้ไขมันทรานส์เรียบร้อยแล้ว แต่ในประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยเราก็ยังเห็นมีอยู่บ้างประปราย ดังนั้นอย่าลืมดูฉลากก่อนกินด้วย อาหารทุกชนิดที่เรากินไม่ควรมีไขมันทรานส์อยู่เลย อย่าลืมว่าไขมันทรานส์ที่น้อยกว่า 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค สามารถเขียนว่า 0 g ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อนๆ ควรดูตรงส่วนผสมด้วย ว่าคำต่างๆ ที่บ่งบอกว่ามีไขมันทรานส์อยู่บ้างไหม ถ้ามีบ๊ายบายเลย

5. โซเดียมและน้ำตาลยิ่งน้อยยิ่งดี

โซเดียม น้ำตาล
นอกจากน้ำตาลที่รู้กันอยู่แล้วว่าใส่น้ำตาลเยอะๆ ไม่ดี ยังมีอีกตัวคือโซเดียม ที่เป็นส่วนหนึ่งของเกลือและผงชูรส มักจะพบในผลิตภัณฑ์พวกนี้เสมอๆ เนื่องจากช่วยการปรุงรสให้ถูกปาก และยังทำให้เก็บได้นานขึ้น หากกินมากเกินไปอาจจะทำให้ความดันสูง บวมน้ำได้
สำหรับคนไทยเรามักไม่ค่อยขาดเกลืออยู่แล้ว เพราะเรามีทั้งน้ำจิ้ม หรือเครื่องปรุงรสมากมาย น้ำปลา ซีอิ๊ว ผงชูรส ซึ่งก็มีโซเดียมอยู่ไม่น้อยเลย อย่าลืมว่าอาหารที่กินแล้วไม่เค็มก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีโซเดียม เพราะโซเดียมอยู่ในหลายรูปแบบมากเลย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *